สนิมในเหล็กเสริมคอนกรีต 

4 สิงหาคม 2021

สนิมในเหล็กเสริมคอนกรีต (Rust in Concrete Reinforcement Rebar)

สนิมคืออะไรและเกิดขึ้นได้อย่างไร

สนิม คือ การผุกร่อนของเหล็ก หรือโลหะชนิดอื่น ๆ เกิดจากการที่ผิวของเหล็กทำปฏิกิริยากับออกซิเจน และความชื้นในอากาศหรือในน้ำ ทำให้เหล็กในบริเวณนั้นมีลักษณะ หรือคุณสมบัติเปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็น สี ความแข็งแรง และการผุกร่อนไม่สามารถคงสภาพได้ สนิมโดยทั่วไป จะมี 2 ชนิด ได้แก่

  • สนิมผิว คือ สนิมระยะแรกเริ่ม เหล็กยังคงสภาพได้ และยังไม่สูญเสียความแข็งแรง แต่หากปล่อยทิ้งไว้นานจะกลายเป็นสนิมขุม
  • สนิมขุม คือ สนิมที่ลุกลามเข้าไปในเนื้อเหล็ก ทำให้เหล็กสูญเสียความแข็งแรง และการคงสภาพ จนไม่สามารถนำไปใช้งานได้

สนิมผิว

สนิมขุม

ผลเสียของสนิมขุมในเหล็กเสริมคอนกรีต

  1. โครงสร้างของอาคารสูญเสียกำลังรับน้ำหนักจากขนาดของหน้าตัดของเหล็กเสริมที่ลดลง
  2. สูญเสียแรงยึดเหนี่ยวระหว่างเหล็กเสริมกับคอนกรีต เนื่องจากสนิมเปราะและแตกหักได้ง่าย เมื่อเกิดที่ผิวเหล็กจะทำให้คอนกรีตยึดเกาะกับสนิมแทนที่จะยึดเกาะกับเนื้อเหล็ก ทำให้แรงยึดเหนี่ยวระหว่างเหล็กกับคอนกรีตลดลง
  3. เมื่อแรงยึดเกาะระหว่างเหล็กกับคอนกรีตลดลงจะเกิดรอยแตกร้าวหลุดร่อนออกของคอนกรีตที่หุ้มผิวเหล็กเสริม ทำให้โครงสร้างขาดความมั่นคงแข็งแรง และความสามารถในการรับน้ำหนักบรรทุกจะลดลง

วิธีการป้องกันเหล็กไม่ให้เกิดสนิม

  1. 1. การกองเก็บ ต้องกองเก็บเหล็กให้ลอยสูงจากพื้นเพื่อป้องกันความชื้นจากพื้นดิน
  2. ไม่กองเก็บในบริเวณที่มีน้ำขัง แต่ควรกองเก็บในบริเวณที่มีรั้วรอบขอบชิด และมีหลังคา
  3. ใช้ผ้าใบคลุมกองเหล็กเพื่อป้องกันน้ำฝนไม่ให้โดนเหล็ก ในกรณีกองเหล็กกลางแจ้ง แต่ควรระวังเรื่องการถ่ายเทอากาศไม่ให้เกิดความชื้นขึ้นในผ้าใบ
  4. ใช้สารเคลือบผิวป้องกันสนิมประเภทอีพอกซี ลาเทกซ์ ซีเมนต์ และสังกะสี ตามความเหมาะสมกับประเภทของงาน

กองเหล็กสูงกว่าพื้น

กองเหล็กกลางแจ้งคลุมผ้าใบ

มีรั้วรอบขอบชิด มีหลังคากันฝน

วิธีแก้ไขเหล็กเสริมที่เกิดสนิมแล้ว

  1. เหล็กเสริมที่เป็นสนิมผิวสามารถแก้ไขได้โดยวิธีการขัดผิวที่เป็นสนิมออกด้วยผ้าหรือกระดาษทราย จากนั้นให้เคลือบด้วยสารป้องกันสนิมประเภทอีพอกซี ลาเทกซ์ ซีเมนต์ และสังกะสีตามความเหมาะสมกับประเภทของงาน
  2. เหล็กเสริมที่เป็นสนิมขุมไม่สามารถใช้งานได้ ไม่สามารถแก้ไขได้ และห้ามนำไปใช้ก่อสร้างโดยเด็ดขาด เนื่องจากเหล็กสูญเสียความแข็งแรง และการคงสภาพแล้ว

Download .PDF file