เหล็กเส้นเสริมคอนกรีตชนิดเหนียวพิเศษ (Rebar Super Ductile)

31 May 2021

เป็นที่ทราบกันดี ว่า “เหล็กเสริม” ในคอนกรีต มีความสำคัญในการรับแรงดัดและแรงดึง ที่เกิดขึ้นในโครงสร้าง เนื่องจากคอนกรีตไม่สามารถรับแรงเหล่านี้ได้ดี เหล็กเสริมจึงจำเป็นต้องมีคุณสมบัติที่เหนียวและยืดหยุ่นได้ไปพร้อมๆกัน ในงานก่อสร้างมักมีการดัดเหล็กเส้น เพื่อให้ได้รูปทรงตามที่ต้องการ ตามมาตรฐานวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ระบุไว้ว่า

1) การตัดและดัดเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต ต้องทำตามที่แบบก่อสร้างกำหนด

2) หากไม่มีรายละเอียดระบุในแบบและรายการก่อสร้าง การดัดเหล็กเส้นให้ทำตามของอมาตรฐานตามรูป และต้องทำให้รัศมีภายในของเหล็กมีค่าไม่น้อยกว่าที่ระบุในตาราง

ในอดีตการดัดเหล็กเส้นมักพบปัญหาในการทำงาน คือ หัก ปริ หรือรอยแตกร้าว บริเวณของอที่มีการดัดเหล็กเส้น ส่งผลให้คุณภาพในการรับแรงของเหล็กเส้นลดลง แต่ในปัจจุบันมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์เหล็กเส้นทั่วไปมากขึ้นจนได้ผลลัพธ์คือ “เหล็กเหนียวพิเศษ” เพื่อลดปัญหาจากการหัก ปริ แตกร้าว บริเวณรอยดัด ช่วยเพิ่มความสามารถในการดัด เป็นรูปทรงต่าง ๆ ได้มากขึ้น

จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (โยธาสาร ปีที่25 ฉบับที่ 4 ตุลาคม-ธันวาคม 2556) และงานวิจัยของภาควิชาวิศวกรรมโยธา สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ระบุไว้ว่าหากใช้เหล็กเสริมชนิดเหนียวพิเศษในโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก จะช่วยเพิ่มความสามารถในการรับแรง (รับพลังงาน) ได้มากกว่าร้อยละ 25 และมีความสามารถในการยืดตัวได้มากกว่าร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับโครงสร้างที่ใช้เหล็กเสริมทั่วไป

Download .pdf