การปรับตัวของอุตสาหกรรมก่อสร้างในช่วงสถานการณ์โควิด-19
(Adaptation of the Construction Industry During the COVID-19 Situation)
ในวันที่ 1 สิงหาคม 2564 ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) หรือ ศบค. ได้ออกประกาศให้โรงงานแคมป์คนงาน และบริษัทในพื้นที่จังหวัดสีแดงเข้มต้องทำมาตรการ Bubble and Seal เพื่อควบคุมความเสี่ยงและป้องกันการแพร่ระบาดที่อาจจะส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและการส่งออกของประเทศ
มาตรการ Bubble and Seal คืออะไร
Bubble and Seal เป็นแนวคิดในการควบคุมโรคสําหรับกลุ่มคนที่แข็งแรง และสามารถอยู่เป็นกลุ่มหรือจัดการให้อยู่ในกลุ่มได้ในพื้นที่จํากัด โดยใช้การสุ่มตรวจแบบ RT-PCR หรือ ATK เพื่อประเมินสถานการณ์ ถ้ามีการติดเชื้อมากกว่า 10% ขึ้นไป ให้เอาคนที่มีผลเป็นบวกแยกออกไปอยู่ รพ.สนามที่เตรียมเอาไว้ ส่วนที่เหลือสามารถทํางานต่อไปโดยไม่ต้องตรวจหาเชื้อแต่ให้เฝ้าระวัง หากพบผู้มีอาการป่วยให้ตรวจหาเชื้อ ถ้าผลเป็นบวกให้แยกออกไปรักษา ผลดีของมาตรการนี้คือ ไซต์งานก่อสร้างไม่ต้องหยุด แรงงานยังได้รับค่าจ้าง และไม่ต้องหนีไปแพร่เชื้อที่อื่น
สำหรับสถานที่ที่แนะนําให้ดําเนินมาตรการ Bubble and Seal คือ สถานประกอบการ แคมป์คนงาน หรือสถานที่ที่มีคนทํากิจกรรมประจําวันร่วมกันเป็นจํานวนมาก แออัด และพบการติดเชื้อสูงมากกว่า 10%
มาตรการ Bubble and Seal ส่งผลต่ออุตสาหกรรมก่อสร้างอย่างไร
ในปัจจุบันปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมก่อสร้างมีมากขึ้น ประกอบกับการแพร่ระบาดของโรคไวรัส Covid-19 เป็นวงกว้าง แม้ว่าจะมีมาตรการ Bubble and Seal มาช่วยลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานในช่วงการแพร่ระบาด แต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และผลกระทบต่องานก่อสร้างได้ทั้งหมด ดังนั้นผู้ประกอบธุรกิจก่อสร้างจึงต้องมีการปรับตัวตามสถานการณ์ในปัจจุบัน เพื่อให้สามารถดำเนินงานก่อสร้างต่อไปได้
การปรับตัวของอุตสาหกรรมก่อสร้าง
ในปัจจุบันมีการให้บริการ Outsource สำหรับงานก่อสร้างมากขึ้นไม่ว่าจะเป็น คอนกรีตผสมเสร็จ โรงหล่อเพื่อผลิตชิ้นส่วนสำเร็จรูป ฯลฯ เพื่อลดปัญหาด้านแรงงานที่ขาดแคลน ลดระยะเวลาในการทำงาน ควบคุมคุณภาพให้ได้มาตรฐาน ลดต้นทุนที่เกิดจากปัญหาทางตรงและทางอ้อม อีกทั้งยังเป็นการตอบรับนโยบาย Bubble and Seal เพื่อควบคุมปริมาณการติดเชื้อ Covid-19
ผลิตภัณฑ์ “เหล็กเส้นขึ้นรูปตัดและดัด” ของ บมจ. ทาทา สตีล (ประเทศไทย) ก็เป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่ช่วยตอบสนองต่อนโยบายด้านการควบคุมโรค ลดระยะเวลาการทำงาน ลดการใช้แรงงานในการตัดและดัดเหล็ก ทำให้ไซต์งานก่อสร้างไม่ต้องใช้คนจำนวนมาก ลดความแออัดในไซต์ และลดการแพร่กระจายของโรค และเป็นการลดปัญหาด้านการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมก่อสร้างได้อีกทางหนึ่ง
ที่มา : กรมควบคุมโรค