ทาทา สตีล ชูความสำเร็จ ส่งเสริมการอ่านทั่วไทย 300 โรงเรียน รับสิ้นปี พร้อมเดินหน้าสนับสนุนฮับการเรียนรู้ในพื้นที่ห่างไกล

28 November 2018

เปิดชีวิตสโลว์ไลฟ์ของเด็กบนเกาะ กับ มุมหนังสือ” สื่อการเรียนรู้ที่สำคัญในพื้นที่ห่างไกล

 สตูล – 28 พฤศจิกายน 2561 – บริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เดินหน้าโครงการส่งเสริมโอกาสแห่งการอ่านให้แก่เยาวชนไทยในพื้นที่ห่างไกลทั่วประเทศ เป็นปีที่ 10 ติดต่อกัน ภายใต้แนวคิด “ขึ้นเขาลงห้วย ลุยป่าไปเกาะ เลาะชายแดน” โดยการติดตั้งและส่งมอบ มุมหนังสือ “เสริมปัญญา กับ ทาทา สตีล” ครบ 300 โรงเรียน อันสะท้อนถึงความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมนิสัยรักการอ่านให้กับเด็กนักเรียนและเยาวชนของชาติ เพราะหนังสือเป็นสื่อการเรียนรู้หลักที่ดีของเด็กๆ ในพื้นที่ห่างไกล ถึงแม้เทคโนโลยีสารสนเทศจะก้าวไกลไปมากก็ตามที ล่าสุด ทาทา สตีล ส่งมอบมุมหนังสือพร้อมหนังสือที่น่าอ่านและน่าสนใจให้แก่โรงเรียนบนเกาะที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สึนามิ ในจังหวัดสตูล

นายศิโรโรตม์ เมธมโนศักดิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ – ทรัพยากรบุคคลและบริหาร บริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการ “เสริมปัญญา กับ ทาทา สตีล” เป็นโครงการส่งเสริมการอ่านให้แก่เยาวชนในพื้นที่ห่างไกลที่ ทาทา สตีล ได้ริเริ่มและดำเนินการมากว่า 10 ปี เพื่อตอบสนองต่อความพยายามที่จะช่วยกันแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ขั้นพื้นฐานของนักเรียนในพื้นที่ห่างไกล โดยที่มาของโครงการเริ่มจากความตั้งใจในการส่งเสริมแหล่งเรียนรู้บริเวณรอบโรงงาน เพื่อปลูกฝังให้เยาวชนในพื้นที่รอบโรงงาน ทาทา สตีล รู้จักใช้เวลาว่างในการพัฒนาตัวเองผ่านการอ่านหนังสือ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อทักษะและคุณภาพในการดำเนินชีวิต การดำรงตนเป็นคนเก่งคนดีของสังคมและประเทศชาติ หลังจากนั้น จึงได้ขยายโครงการออกไปในพื้นที่ที่ห่างไกลมากขึ้นและขยายเป้าหมายไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศไทย

นายศิโรโรตม์ กล่าวเพิ่มว่า สำหรับในปีนี้ การส่งมอบมุมหนังสือดังกล่าวครบ 300 โรงเรียนครอบคลุม 60 จังหวัดทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ภายใต้แนวคิด “ขึ้นเขาลงห้วย ลุยป่าไปเกาะ เลาะชายแดน” ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเรามีการดำเนินงานที่ท้าทายที่มากขึ้นในทุกๆ ปี โดยการเข้าไปติดตั้งมุมหนังสือในโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล และขาดโอกาสที่จะเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นการมอบมุมหนังสือให้กับโรงเรียนบนพื้นที่สูงในภาคเหนืออาทิเช่น จังหวัดตาก จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดน่าน และจังหวัดเชียงราย ไปจนถึงการมอบมุมหนังสือให้แก่โรงเรียนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ และล่าสุดทาทา สตีล ได้นำเอามุมหนังสือที่ครบครันซึ่งประกอบด้วย ชั้นหนังสือที่มีสีสันสวยงาม หนังสือที่น่าอ่านและน่าสนใจ ฯลฯ ไปมอบให้แก่โรงเรียนบ้านตันหยงกลิง และโรงเรียนบ้านตันหยงอูมาชัยพัฒนา ที่ตั้งอยู่บนเกาะตันหยงอุมา จังหวัดสตูล ซึ่งยังขาดแคลนสื่อการเรียนการสอนเนื่องจากตั้งอยู่บนเกาะที่ห่างไกล สามารถเดินทางไปถึงโดยทางเรือเท่านั้น อีกทั้งโรงเรียนดังกล่าวยังได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สึนามิที่ผ่านมา ทำให้เป็นหนึ่งในกลุ่มโรงเรียนที่ถูกหลงลืมไปจากการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ที่จำเป็น ทาทา สตีล จึงเล็งเห็นถึงโอกาสที่จะได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการศึกษาในพื้นที่ห่างไกลดังกล่าว

นายฮัมดาน เบ็ญญโซฟ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านตันหยงกลิง หนึ่งในโรงเรียนที่ตั้งอยู่บนเกาะตันหยงอูมา จังหวัดสตูล กล่าวในฐานะของผู้บริหารโรงเรียนซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลบนเกาะ เข้าถึงได้ยาก ทั้งการเดินทางและการสื่อสารกับทางภาคพื้นดิน แม้ว่าในปัจจุบันโรงเรียนได้มีความพยายามในการพัฒนาการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับการเรียนในยุค 4.0 ตามนโยบายของภาครัฐ โดยให้เด็กนักเรียนหันมาใช้สื่อดิจิทัลในการสืบหาข้อมูล แต่ในทางปฏิบัติยังคงเป็นไปได้ยาก จากข้อจำกัดหลายข้อ เช่น การขาดแคลนสื่อการเรียนการสอนที่ทันสมัย บุคลากรยังขาดความเชี่ยวชาญในการใช้สื่อการสอนใหม่ๆ รวมทั้งความสนใจของเด็กนักเรียนในพื้นที่ห่างไกล ยังคงชื่นชอบกับการที่ได้สืบค้นข้อมูลและเปิด “หนังสือ” จึงนับว่ายังคงเป็นสื่อหลักในการเรียนรู้ในชีวิตการเรียนในปัจจุบันอย่างที่ไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงให้หันไปให้ความสนใจแต่การเรียนรู้ผ่านสื่อดิจิตัลเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันยังคงมีความขาดแคลนอยู่อีกมาก ปัจจัยเหล่านี้เป็นเหตุผลสำคัญที่ว่า “ทำไมการเรียนการสอนในพื้นที่ห่างไกล ยังไม่สามารถพัฒนาเทียบเท่ากับโรงเรียนในเมืองได้”

นายฮัมดาน ได้เปิดเผยเพิ่มเติมถึงปัญหาของโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลที่ต้องเผชิญอยู่ ซึ่งมีส่วนทำให้การพัฒนาศักยภาพของนักเรียนเป็นไปอย่างไม่เต็มที่ อาทิ ขาดอุปกรณ์เสริมทักษะให้นักเรียนได้เล่นและเรียนรู้ สื่อการเรียนการสอนที่ไม่หลากหลายและเพียงพอต่อความต้องการ จำนวนครูที่มีทักษะในด้านต่างๆ เช่น ภาษาอังกฤษ ไอที

ซึ่งยังมีไม่เพียงพอต่อนักเรียน เป็นต้น โดยกล่าวว่า ไม่เพียงแต่โรงเรียนบ้านตันหยงกลิงที่ตั้งอยู่บนเกาะเท่านั้นที่เผชิญกับปัญหาข้อจำกัดและความท้าทายต่างๆ เหล่านี้ แต่ยังมีโรงเรียนอื่นๆ ในประเทศไทยอีกเป็นจำนวนมากที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ก็กำลังเผชิญกับปัญหาความขาดแคลนโอกาสของเด็กๆ ในการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ขั้นพื้นฐานเช่นเดียวกัน

“มุมหนังสือ “เสริมปัญญา กับ ทาทา สตีล” สามารถแก้ปัญหาการศึกษาในพื้นที่ห่างไกลได้ ทั้งในแง่การเติมเต็มด้านการเรียนรู้ให้เด็กๆ ได้ใช้เวลาว่างในห้องสมุดที่มีสื่อการเรียนการสอนที่น่าสนใจเพิ่มขึ้น และยังช่วยอำนวยความสะดวกให้การสอนของครูมีรูปแบบที่น่าสนใจมากขึ้น นอกจากนั้น การที่ ทาทา สตีล เข้าไปจัดระบบหมวดหมู่หนังสือในห้องสมุด รวมทั้งการสำรวจความต้องการหนังสือประเภทต่างๆ อย่างต่อเนื่องจากครูบรรณารักษ์และนักเรียนในโรงเรียน จะทำให้โครงการ “เสริมปัญญา กับ ทาทา สตีล” มีส่วนช่วยให้เยาวชนไทยในพื้นที่ห่างไกลได้เข้าถึงแหล่งเรียนรู้พื้นฐาน และเพิ่มอัตราการอ่านออกเขียนได้ของนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลอีกด้วย” นายศิโรโรตม์ กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ นอกเหนือจากโรงเรียนบ้านตันหยงกลิน และโรงเรียนบ้านตันหยงอุมา ซึ่งตั้งอยู่บนเกาะตันหยงอุมา แล้ว ยังมีโรงเรียนในจังหวัดสตูลซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งและได้รับมอบมุมหนังสือ “เสริมปัญญา กับ ทาทา สตีล” อีก 3 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนโรงเรียนบ้านแป-ระใต้ โรงเรียนบ้านสวนเทศ และโรงเรียนผังปาล์ม 4 สำหรับในปี 2562 ทาทา สตีล มีแผนสนับสนุนโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล โดยตั้งเป้าพัฒนาแหล่งเรียนรู้ ให้แก่โรงเรียนที่จะเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ในชุมชนที่ห่างไกล เพื่อขยายโอกาสการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ให้กับโรงเรียนและชุมชนโดยรอบ ตอบโจทย์การเรียนในยุค 4.0 ที่ทันสมัยและเข้าถึงทุกพื้นที่ต่อไป