"ทาทา" ภูมิใจที่ได้ร่วมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของไทย

19 May 2022

ด้วยนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย  ทั้งเหล็กเส้น  เหล็กเส้นเหนียวพิเศษ ที่สามารถต้านทานแรงแผ่นดินไหวได้  เหล็ก SD50 เหล็กเส้นชนิด Non-T เหล็กเดือยชนิดพิเศษ (Dowel bar) เหล็กปลอกสำเร็จรูป   เหล็กเสริมฐานรากสำเร็จรูป (Footing) เหล็กเส้นคุณภาพ SD40 DB8   และบริการตัดและดัด (Cut & Bend)  เหล็กเส้นก่อสร้างสำเร็จรูป  ซึ่งตอบโจทย์งานก่อสร้างอย่างครบทั้งวงจร  ทั้งในเรื่องคุณภาพ ความปลอดภัย ลดต้นทุนและเวลา และลดการสูญเสียทรัพยากร  ทำให้ตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา   บริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)   ผู้นำอันดับ 1 ในการผลิตเหล็กเส้น ภายใต้ชื่อแบรนด์สินค้า “ทาทา ทิสคอน”  ซึ่งมียอดขายที่ดีที่สุดในประเทศ  จึงได้รับความไว้วางใจจากหน่วยงานของภาครัฐ นำนวัตกรรม “ทาทา ทิสคอน” ไปใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศไทย  ทั้งโครงการเมกะโปรเจ็กต์   และโครงการก่อสร้างต่างๆ รวมทั้งโครงข่ายถนนอีกมากมายหลายเส้นทาง  นับได้ว่ามีส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน

อีกหนึ่งความภูมิใจของทาทา สตีล (ประเทศไทย) คือ  “ทาทา ทิสคอน” ได้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการสำคัญของกรมทางหลวง ซึ่งมีแผนงานก่อสร้างโครงข่ายถนนวงแหวน-ทางเลี่ยงเมืองกว่า 57 แห่งทั่วประเทศไทย เพื่อแก้ไขปัญหารถติดและรองรับการขยายตัวของเขตเมืองในจังหวัดหลักๆ ทั่วประเทศ ซึ่งจะช่วยผลักดันเศรษฐกิจท้องถิ่นให้เติบโตอย่างยั่งยืน  ดังนั้นโครงการก่อสร้างทางเลี่ยงเมือง-วงแหวนรอบนอก จึงจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับจังหวัดหลักๆ ของประเทศที่มีอัตราการเติบโตปริมาณจราจรสูง ซึ่งนอกจากจะช่วยลดการจราจรติดขัดแล้ว ยังสามารถลดปัญหาอุบัติเหตุ รวมถึงช่วยรองรับการกระจายความเจริญลงสู่ท้องถิ่น และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

สำหรับทางเลี่ยงเมืองและถนนวงแหวนที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และจะแล้วเสร็จในปี 2566-2567 มีทั้งหมด 7 แห่ง  ได้แก่

  1. ทางเลี่ยงเมืองเชียงของ จ.เชียงราย ระยะทาง 9.103 กม.วงเงินก่อสร้าง 1,044 ล้านบาท คาดจะแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม 2567
  2. ทางเลี่ยงเมืองนครสวรรค์ ด้านตะวันออก ตอนแยกทางหลวงหมายเลข 117-บรรจบทางหลวงหมายเลข 225 ระยะทาง 20 กม. วงเงินก่อสร้าง 3,196 ล้านบาท คาดจะแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2567
  3. วงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา วงเงินงบประมาณ 7,650 ล้านบาท แล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2566
  4. ทางเลี่ยงเมืองหนองคาย (ด้านตะวันออก) วงเงินงบประมาณ 2,893 ล้านบาท แล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม 2566
  5. ทางเลี่ยงเมืองบึงกาฬ วงเงินงบประมาณ 1,714 ล้านบาท แล้วเสร็จเดือนมีนาคม 2566
  6. ทางเลี่ยงเมืองปัตตานี วงเงินงบประมาณ 1,851 ล้านบาท คาดว่าแล้วเสร็จในปี 2567

7.ทางเลี่ยงเมืองหาดใหญ่ ด้านตะวันออก วงเงินงบประมาณ 569 ล้านบาท คาดว่าแล้วเสร็จเดือนเมษายน 2566

กรมทางหลวงได้จัดทำแผนพัฒนาทางเลี่ยงเมือง (Action Plan) ระยะยาว 10 ปี ระหว่างปี 2568-2578  เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรบริเวณเขตเมือง โดยแบ่งการศึกษาเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนที่ 1 ศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจวิศวกรรม และตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม และส่วนที่ 2 วิเคราะห์ความคุ้มค่า และจัดลำดับความสำคัญของโครงการ เพื่อทำแผนพัฒนาทางเลี่ยงเมืองทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว เพื่อให้การพัฒนาโครงข่ายเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

สำหรับแผนพัฒนาทางเลี่ยงเมือง 10 ปี มีทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว รวม 25 แห่งทั่วประเทศ ระยะทางรวมทั้งสิ้นกว่า 484.05 กม. แบ่งเป็นภาคเหนือ 7 แห่ง ระยะทาง 116.6 กม. ภาคกลาง 4 แห่ง ระยะทาง 116.7 กม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 แห่ง ระยะทาง 119.6 กม.และภาคใต้ 7 แห่ง ระยะทาง 131.15 กม.

นอกจากโครงข่ายถนนวงแหวน-ทางเลี่ยงเมืองของกรมทางหลวงแล้ว ยังมีโครงการเมกะโปรเจ็กต์ ที่เป็นโอกาสสำคัญของประเทศ เพื่อเป็นสะพานที่จะเชื่อมโยงในการพัฒนา เศรษฐกิจและเชื่อมโยงตลาดการค้าระหว่างกลุ่มประเทศแถบลุ่ม แม่น้ำโขง เนื่องจากไทยถือเป็นศูนย์กลางของอินโดจีน ได้แก่ โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา)   ระยะทางรวม 250  กิโลเมตร วงเงินรวม 180,000 ล้านบาท แบ่งออกเป็น  14 สัญญา แต่ละสัญญามีความต้องการใช้เหล็กก่อสร้างในส่วนงานโยธาประมาณ 16,000 ตัน  ในสัญญาก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงสัญญาที่ 1 ทาทา สตีล ได้ทำสัญญาขายเหล็กก่อสร้าง SD 40 ชนิดพิเศษ โดยเพิ่มสารเคมี-อัลลอยด์ตามความต้องการของงานก่อสร้างในปริมาณ 12,000 ตัน  ซึ่งผ่านการตรวจสอบมาตรฐานโดยสถาบันตรวจสอบจากสิงคโปร์

สำหรับความคืบหน้าของโครงการฯ  หลังจากการก่อสร้างงานโยธาทั้ง 14 สัญญา ทยอยแล้วเสร็จ ฝ่ายจีนจะเข้ามาวางระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ระบบอาณัติสัญญาณ รวมทั้งจัดหาขบวนรถ ซึ่งทุกอย่างจะแล้วเสร็จในปี 2568 และเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา ได้ในปี 2569 เป็นต้นไป

อีกหนึ่งโครงการเมกะโปรเจ็กต์ที่มีความสำคัญต่อโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย  คือ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาระบบรางระดับชาติตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2565 และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564)  โดยโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานหลักด้านคมนาคม ที่จะเชื่อมโยงระหว่างท่าอากาศยานหลักของประเทศ คือ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และนำความเจริญเติบโตด้านต่างๆ เข้าสู่พื้นที่ EEC สร้าง New S-Curve ให้กับเศรษฐกิจของไทย

โครงการดังกล่าวนี้ใช้โครงสร้างและแนวเส้นทางการเดินรถเดิมของระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแอร์พอร์ตลิงค์ (Airport Rail Link) ที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน โดยจะก่อสร้างทางรถไฟขนาด 1.435 เมตร (Standard Gauge) ส่วนต่อขยาย 2 ช่วงจากสถานีพญาไท ไปยังสนามบินดอนเมือง และจากสถานีลาดกระบังไปยังสนามบินอู่ตะเภา พร้อมเชื่อมเข้าออกสนามบิน โดยใช้เขตทางเดิมของการรถไฟฯ เป็นส่วนใหญ่ รวมระยะทาง 220 กม.  ใช้ผู้เดินรถรายเดียวกัน  โดยรถไฟความเร็วสูงมีความเร็วสูงสุด 250 กม./ชม. เชื่อมกรุงเทพฯ กับพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)  ภายในระยะเวลาไม่เกิน 60 นาที  ซึ่งทาทา สตีล (ประเทศไทย) สามารถผลิตเหล็กตามสเปคหรือตามมาตรฐานที่ผู้รับเหมาก่อสร้างต้องการได้

ในส่วนของโครงการอื่นๆ ที่ทาทา สตีล (ประเทศไทย) ได้เข้าไปมีส่วนสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาไปสู่ระดับที่สูงขึ้น ลดต้นทุนการก่อสร้าง บริหารแรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความซ้ำซ้อนในการขนย้าย ฯลฯ เพื่อเตรียมรับมือกับบริษัทผู้รับเหมาต่างชาติที่เริ่มขยายมายังธุรกิจก่อสร้างของไทย อาทิ โครงการโรงไฟฟ้าพลังลมชัยภูมิ-มุกดาหาร โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม สายสีชมพู และสีเหลือง อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ  เฟส2  โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6  บางปะอิน -นครราชสีมา (M6) และโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี  (M81)

โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6  บางปะอิน -นครราชสีมา (M6)

โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี  (M81)